ชาวสวนเร่งตัด “ทองย้อย” ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน หลังลูกค้าสั่งจองเพียบ ด้านเกษตรอำเภอกรงปินัง หนุนเกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลผลิต ตัดสุกแก่เต็มที่ ลดปัญหาทุเรียนอ่อน พร้อมบุกตลาดออนไลน์ช่วงโควิด-19

          ในปีนี้ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน “ทองย้อย” ซึ่งชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ ม.3 ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ซึ่งได้ปลูกไว้ในแปลงปลูกทุเรียน จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 10 ไร่ ที่มีทั้งทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ทุเรียนบ้านหลากหลายพันธุ์ รวมถึงพันธุ์ทองย้อย ซึ่งมีจำนวน 2 ต้น ผลผลิตได้เริ่มสุกจนได้ที่ หลังจากที่มีออเดอร์สั่งซื้อ ชาวสวนก็ได้เร่งตัดผลผลิตที่แก่จัดเพื่อส่งขายสร้างรายได้ ซึ่งการเก็บทุเรียน “ทองย้อย” นั้น ก็จะเริ่มจากการปีนต้นพร้อมกับนำถัง ไม้ยาวที่เสียบกับมีดอยู่ด้านปลายขึ้นไปเลือกตัดทีละลูกใส่ในถัง เพื่อไม่ให้ผลทุเรียนตกลงพื้น ซึ่งจะทำให้รสชาติไม่อร่อย หากลูกไหนที่อยู่ปลายกิ่งมากไม่สามารถไปตัดได้ ก็จะใช้ไม้ยาวที่มีมีดปลายแหลมตัดลูกพร้อมกับมีคนรับอยู่ใต้ต้น โดยทั้งชาวสวนและผู้ที่รับก็จะต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ในการเลือกและตัดทุเรียน เพื่อให้ลูกค้าได้รับประทานรสชาติความอร่อยของทุเรียนทองย้อยที่มีเนื้อทั้งนุ่มและเหลืองสวย

          นายยูโซะ ดอเลาะบองอ ชาวสวนทุเรียน บอกว่า สำหรับปีนี้ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน “ทองย้อย” ที่มี 2 ต้น จะมีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลกรัม ขายได้ทุกปี พอผลผลิตเริ่มสุกก็มีคนสั่งจองมาตลอด ไม่ต้องไปขายที่ตลาด ลูกค้าชอบรสชาติอร่อย กินแล้วติดใจ สำหรับราคาก็ไม่แพง อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท

          ส่วนทุเรียนหมอนทองคุณภาพ ที่ปลูกไว้ 1 แปลง ผลผลิตปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้วครึ่งต่อครึ่ง เนื่องจากสภาพอากาศ ตอนนี้ตัดไปขายแล้ว ราคาก็เหมือนกับปีที่ผ่านมา 80-90 บาท ก็พอใจแล้ว ช่วงนี้โควิด-19 ด้วย อยู่ราคาเดิมดีกว่าต่ำกว่านี้ ถ้าขายไม่ได้ก็จะแย่ สำหรับตลาดของหมอนทองนั้น ก็จะขายกับทางปิดทองด้วย พ่อค้ามาซื้อถึงสวนด้วย ถึงแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังมีพ่อค้าเข้า

          นายอับดุลอาฟิช สะตีมือมะ เกษตรอำเภอกรงปินัง เผยว่า พื้นที่อำเภอกรงปินัง มีพื้นที่ทุเรียนที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3,200 ไร่ ปีที่ผ่านมาเกษตรกรมีการปลูกมากขึ้น ประมาณ 1,300 ไร่ ปีนี้ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ประมาณ 2,800 ต้นทั้งอำเภอ ในส่วนของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ได้มาให้ความรู้เกษตรกรตั้งแต่การผลิต ลดต้นทุน การใช้ปุ๋ย ใช้ยาให้ถูกต้อง เน้นการเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ การตลาด ผลผลิตที่สุกแก่เต็มที่ รณรงค์ป้องกันแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน เชื่อมโยงกัน

          ในช่วงโควิด-19 เกษตรกรเองมีการปรับตัวเน้นตลาดออนไลน์ โดยการสั่งจองทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายไปสู่แหล่งตลาดด้วย อีกส่วนหนึ่งก็จะส่งที่ตลาดมลายูบางกอก กรงปินัง ผลผลิต 80% ส่วนของราคาปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว ผลผลิตลดลงประมาณ 30% คุณภาพผู้บริโภคให้การยอมรับ ทำให้ผลผลิตราคายังดีอยู่ เกรด A B อยู่ที่กิโลกรัมละ 98 บาท

ทุเรียนพื้นบ้านกรงปินัง

By admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *